ในปัจจุบันการบริหารจัดการเว็บไซต์สามารถทำได้ง่าย มีโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพสนับสนุนการทำงานมากมายทั้งในเรื่องของการจัดการโดเมนและโฮสติ้ง การจัดการเมล การจัดการแอพพลิเคชั่นต่างๆ รวมไปถึงการติดตั้งโปรแกรม WordPress ด้วยคลิ๊กเดียว โปรแกรมที่เราจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ โปรแกรม Plesk นั่นเอง ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงว่า Plesk คืออะไร มีความสามารถอย่างไรและทำอะไรได้บ้าง มาดูในรายละเอียดกันเลยครับ
Table of Contents
Plesk คืออะไร
Plesk คือ โปรแกรมบริหารจัดการเว็บไซต์ มี Control Panel ทำหน้าที่ในการจัดการระบบต่างๆ เช่น การจัดการโดเมนและโฮสติ้ง การจัดการไฟล์ การจัดการฐานข้อมูล การจัดการเมล การจัดการแอพพลิเคชั่นต่างๆ การจัดการเรื่องความปลอดภัย และอื่นๆ
เราจะสามารถใช้โปรแกรม Plesk ได้อย่างไร
การใช้งานโปรแกรม Plesk ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้งานในรูปแบบใด หากเราเป็นผู้ใช้งานจริงๆ คือ นำมาใช้งานทำเว็บไซต์ เราสามารถใช้โปรแกรม Plesk ผ่านบริษัทโฮสติ้งต่างๆ ที่เปิดให้บริการได้ เป็นบริการฟรีสำหรับผู้ใช้งานที่ทำการเช่าโดเมนและโฮสติ้งของบริษัทนั้นๆ
แต่ถ้าในกรณีที่เราเป็นบริษัทโฮสติ้ง ที่ต้องการทำการติดตั้งโปรแกรม Plesk เพื่อให้ลูกค้าของเรามาใช้งาน เราก็สามารถทำการติดตั้งโปรแกรมนี้ได้เองบนบนเซิฟเวอร์ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการในส่วนของ Linux หรือ Windows ได้เช่นเดียวกัน
ราคาและแพลนของ Plesk
รายละเอียดเกี่ยวกับแพลนและราคาของ Plesk ขึ้นกับแพ็คเกจที่เลือก โดยแพ็คเกจต่ำสุดจะเป็นของ Web Admn Edition VPS จะอยู่ประมาณ $15.50 ต่อเดือน ไปจนถึง Web Host Edition ราคา $40.50 ต่อเดือน หากต้องการเป็นลักษณะ Business Plan สามารถสมัครเพื่อสอบถามราคากับทาง Plesk ได้ ดูรายละเอียด ราคา Plesk
คุณสมบัติของ Plesk
Plesk เป็นโปรแกรมที่ได้มาตรฐานในด้านการจัดการเว็บไซต์ บริหารจัดการง่าย ปลอดภัย สามารถทำการเพิ่มขีดความสามารถและปรับแต่งการใช้งานได้เอง ดังนี้:
- One Dashboard: เราสามารถบริหารจัดการหลายเว็บไซต์ได้ภายใต้หน้าควบคุมเดียว ทำให้สามารถอัพเดท ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน และรับคำแนะนำการทำงานได้จากจุดเดียว
- Security: Plesk มีระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งมาพร้อม ตั้งแต่ระดับระบบปฏิบัติการ (Operating System) เครือข่าย (Network) และโปรแกรม (Applications) โดยยังร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำด้านความปลอดภัยในอุตสาหกรรมอีกด้วย
- 100+ Extensions: Plesk มีส่วนขยายมากมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ เช่น DigiCert SSL, CloudLinux, Cloudflare, Atomicorp, NodeJS, PHP, NginX, Let’s Encrypt, Git, ImunifyAV, Acronis Backup to Cloud Pro, WP Toolkit และ Google PageSpeed Insights
- WP Toolkit: เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถติดตั้ง บริหารจัดการ อัพเดท และทำให้เว็บไซต์ของเราปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถทำการทดสอบด้วย AI การโคลน การแบ็คอัพและกู้คืนเว็บไซต์ได้
- Compatibility: Plesk สามารถทำงานได้หลากหลาย ตั้งแต่ในส่วนของแพลทฟอร์ม WebOps และ Hosting บนแพลตฟอร์มเสมือนจริง (Virtualization) และคอนเทนเนอร์ (Container) รวมถึงผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ เช่น AWS, Google, Alibaba, Azure และ DigitalOcean
- Customization: เราสามารถปรับแต่งระบบได้ โดย Plesk จะให้สิทธิการเข้าถึงแบบ root ผ่าน SSH ในส่วนของ VPS และเซิร์ฟเวอร์เฉพาะ (Dedicated Server) ทำให้สามารถติดตั้งโปรแกรมอื่น (Third-party application) โอเพ่นซอร์ส (Open Source) หรือโปรแกรมปรับแต่งระบบ (Customized application) ตามที่ต้องการ
Plesk ทำอะไรได้บ้าง
Plesk มีความสามารถหลากหลาย โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการเว็บโฮสติ้งและส่วนประกอบอื่นๆ เช่น เมล ไฟล์ ฐานข้อมูล และอื่นๆ ดังนี้
- การจัดการโดเมนและโฮสติ้ง (Domain and Hosting): ส่วนแรกนี้เป็นส่วนบริหารหลักของโปรแกรม Plesk ที่ให้เราสามารถจัดการโดเมนและโฮสติ้ง เราสามารถที่จะทำการเพิ่ม ลบ แก้ไขเว็บไซต์ บริหารเว็บไซต์แต่ละเว็บไซต์ผ่านหน้าจอควบคุมเดียว สามารถทำการติดตั้งโปรแกรม CMS ต่างๆ เพื่อสร้างเว็บไซต์ที่เราต้องการ หรือ หากเราต้องการทำการเขียนเว็บไซต์เองก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ผ่านการเขียนโปรแกรม HTML และ PHP เป็นต้น ด้านล่างเป็นความสามารถของโปรแกรม Plesk ที่สามารถทำได้ในเรื่องการของทำเว็บไซต์
- สามารถทำการสร้างเว็บไซต์แบบการเขียน HTML, PHP
- สามารถใช้ CMS เช่น WordPress ในการสร้างเว็บไซต์ได้
- สามารถใช้ Sitejet Builder ที่เป็นเครื่องมือสร้างเว็บไซต์ของ Plesk สร้างเว็บไซต์ น
- สามารถ Deploy gits ใช้งานดึงไฟล์จาก Git repository
- สามารถใช้งาน Node.js
- สามารถ Upload Files อัพโหลดไฟล์จากเครื่องคอมพิวเตอร์
- สามารถนำเข้านำเข้าแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์จากบริษัทโฮสติ้งอื่น (Import Apps or Sites)
- การจัดการเมล (Mail): โปรแกรม Plesk ให้เราสามารถเพิ่มอีเมลเพื่อใช้งานกับเว็บไซต์ของเราได้ไม่จำกัด และสามารถทำการกำหนดจำนวนข้อความที่ส่งออก (Limit Outgoing Messages) ของแต่ละอีเมล รวมถึงสามารถใช้งานอีเมลผ่าน Webmail ได้ด้วย
- การจัดการแอพพลิเคชั่น (Applications): นอกจากการใช้งานในส่วนของเว็บไซต์แล้ว โปรแกรม Plesk ยังให้เราสามารถทำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มทำเว็บไซต์ (Web) เช่น WordPress, Joomla, Drupal, Magento, Moodel เป็นต้น
- กลุ่ม Collaboration ได้แก่ Email, Portal เช่น SquirreMail, AfterLogic
- กลุ่ม Front office ได้แก่ แอพพลิเคชั่นประเภท Help desk, Online marketing เช่น osTicket, PhpList
- Back office ได้แก่ Customer relationship management เช่น SugarCRM
- การจัดการไฟล์ (File) : โปรแกรม Plesk สามารถทำการจัดการไฟล์บนเซิฟเวอร์ผ่านโปรแกรม File Manager บน Plesk เราสามารถทำการก๊อบปี้ ย้าย จัดเก็บ นำออกและอื่นๆ ของไฟล์และโฟลเดอร์ได้
- การจัดการฐานข้อมูล: เราสามารถทำการจัดการฐานข้อมูลโดยทำการเพิ่ม ลบ แก้ไข ฐานข้อมูลได้ ฐานข้อมูลที่ใช้ได้แก่ MariaDB ผ่านโปรแกรม phpMyAdmin
- สถิติ (Statistics) : ในโปรแกรม Plesk จะมีการแสดงสถิติของเซิฟเวอร์ได้แก่ พื้นที่ของดิสก์ (Disk space) ว่ามีการใช้งานไปเท่าไร มีการใช้งานอะไรบ้าง มีทราฟฟิคหรือปริมาณการเข้าใช้งานเว็บเท่าไร และยังสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของการใช้งาน FTP สถิติการใช้งานเว็บไซต์ (Web Statistics SSL/TLS) เป็นต้น
- การจัดการผู้ใช้งาน (Users) : เป็นการจัดการการเข้าใช้งานของผู้ใช้งาน เราสามารถสร้าง กำหนดสิทธิ (Role) และลบผู้ใช้งานได้
- บัญชีผู้ใช้งาน (Account): ส่วนนี้จะเป็นรายละเอียดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับแพ็คเกจที่ใช้งานต่างๆ สถานการณ์ใช้งาน และวันที่เริ่มทำการติดตั้ง สถานะของโฮสติ้งและสิทธิอนุญาตต่างๆ ของโฮสติ้ง ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน ภาษาที่ใช้ และอื่นๆ
- การจัดการ WordPress: เราสามารถบริหารจัดการ WordPress ในส่วนของการติดตั้งโปรแกรมและจัดการ เช่น นำเข้า สแกนโปรแกรม และยังสามารถทำการเปิดหรือปิดการใช้งานธีมและปลั๊กอินได้ผ่านโปรแกรม WP Toolkit
Plesk เหมาะกับใคร
นอกจาก Plesk จะเหมาะกับผู้ใช้งานที่ต้องการสร้างเว็บไซต์แล้ว ยังเหมาะกับผู้ใช้งานกลุ่มอื่นๆ อีก ได้แก่
- Infrastructure Providers
- IT Admins
- Developers
- Content Managers
- Digital Agencies
ข้อดีของการใช้ Plesk
- ง่ายต่อการใช้งาน เพราะสามารถบริหารจัดการหลายเว็บไซต์ได้ภายใต้การควบคุมเดียว สามารถเข้าถึงไฟล์และฐานข้อมูลได้ง่าย
- ง่ายต่อการติดตั้ง เราสามารถทำการติดตั้งโปรแกรมต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มของการทำเว็บไซต์ กลุ่ม Collaboration กลุ่ม Front Office และ Back Office
- มีประสิทธิภาพสูง ให้เราสามารถจัดการในส่วนของสคริปต์ต่างๆ ได้และยังสามารถช่วยเหลือในเรื่องของการแบ็คอัพข้อมูลได้
- มีความปลอดภัยสูงทั้งในส่วนของ SSL Certificates, Firewall การควบคุมและการตรวจสอบการใช้งาน
Plesk กับ WordPress
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า เราสามารถทำการติดตั้ง WordPress ผ่าน Plesk ได้ง่ายๆ เพียงแค่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อโดเมนเนม รายละเอียดผู้ใช้งานและรหัสผ่านก็สามารถติดตั้งได้แล้ว สำหรับวิธีการติดตั้งสามารถดูได้จากบทความเรื่อง การติดตั้ง WordPress ผ่าน Plesk
สรุปส่งท้าย
Plesk เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังและยืดหยุ่น ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับการบริหารจัดการเว็บไซต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยมีการใช้โปรแกรม Plesk อย่างแพร่หลาย เราจึงควรรู้จักและเรียนรู้ถึงวิธีการใช้งาน อย่างน้อยที่สุดก็คือ สามารถติดตั้งโปรแกรมต่างๆ ผ่าน Plesk ได้ หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์สำหรับคนที่สนใจไม่มากก็น้อย ติดตามบทความใหม่ได้ในโอกาสถัดๆ ไป สวัสดีครับ