ระบบจัดการเว็บไซต์ WordPress

แนะนำระบบการจัดการเว็บไซต์ WordPress สำหรับผู้เริ่มต้น

หลังจากที่เราได้แนะนำถึงวิธีการติดตั้ง WordPress ไปแล้ว สำหรับผู้เริ่มต้นเราจะแนะนำความสามารถหลักของระบบการจัดการเว็บไซต์ WordPress ด้วยว่าประกอบด้วยส่วนใดบ้าง เพื่อให้เห็นภาพรวมกว้างๆ ว่าโปรแกรมสร้างเว็บไซต์นี้สามารถทำสิ่งใดได้และไม่สามารถทำสิ่งใดได้ มีความสามารถขนาดไหน เราจะเริ่มกันที่แผงควบคุม WordPress และไปแต่ละหัวข้อตามลำดับ

แผงควบคุม (Dashboard)

ในแผงตวบคุม WordPress เป็นหน้าต้อนรับของเวิร์ดเพรส (Welcome to WordPress) จะมีข้อมูลข่าวอัพเดทของเวิร์ดเพรส วิธีการใช้งาน ข้อมูลสถานะสุขภาพของเว็บไซต์ของเรา มีการสรุปข้อมูลจำนวนบทความ จำนวนข้อความแสดงความคิดเห็น ช่องให้จดบันทึกดราฟท์ในกรณีที่มีไอเดียในการเขียนบทความและอื่นๆ

แผงควบคุม (Dashboard)

สำหรับเมนูด้านข้างของ WordPress จะประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ ได้แก่ ส่วนการตั้งค่า (Settings) ส่วนของธีมและปลั๊กอิน (Theme and Plugins) ส่วนการปรับแต่งหน้าตาเว็บไซต์ (Apperance) ส่วนการจัดการเนื้อหา (Content Management) ส่วนของการจัดการผู้ใช้งาน (User Management) ส่วนของการจัดการสื่อ (Media Management) ส่วนของการจัดการข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment Management) และส่วนของการจัดการเครื่องมือ (Tools)

ส่วนของการตั้งค่า (Settings)

ส่วนที่หนึ่งคือส่วนของการตั้งค่า (Settings) ซึ่งเป็นส่วนที่เมื่อเราเริ่มเข้าใช้งาน WordPress การตั้งค่ามีหลายส่วนด้วยกัน ได้แก่ การตั้งค่าทั่วไป (General) การตั้งค่าการเขียน (Writing) การตั้งค่าการอ่าน (Reading) การตั้งค่าสื่อ (Media) การตั้งค่าลิงก์ (Permalink) และการตั้งค่าส่วนตัว (Privacy)

เราจะต้องเข้ามาตั้งค่าเริ่มต้นของเว็บไซต์ให้เรียบร้อยก่อน ได้แก่ การตั้งค่าทั่วไป (General) ที่จะต้องทำการตั้งชื่อเว็บไซต์ คำโปรยหรือคำอธิบายของเว็บไซต์ว่าทำเกี่ยวกับอะไร ภาษาที่จะใช้ในเว็บไซต์ เขตเวลาที่ใช้ของเว็บไซต์ การตั้งค่าลิงก์ เรายังต้องทำการตั้งค่าในส่วนของรูปแบบลิงก์หรือ URL ที่อยู่ในหัวข้อเมนูของเพอร์มาลิงก์ (Permalink) เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจโครงสร้างของเว็บไซต์ของเราได้โดยง่าย และการตั้งค่าหน้าแรกที่อยู่ในหัวข้อเมนูการอ่าน (Reading) ที่จะต้องทำการระบุว่าหน้าไหนเป็นหน้าแรกของการใช้งาน

การตั้งค่า (Settings)

ส่วนของธีมและปลั๊กอิน (Theme and Plugins)

ส่วนของธีม (Theme) จะเป็นสำคัญส่วนหนึ่งที่จะบ่งบอกหน้าตารูปลักษณ์เว็บไซต์ เปรียบเหมือนหน้ากากของเว็บไซต์ที่เราสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เราสามารถทำการกำหนดธีมของเราได้ที่ส่วนเมนูธีม (Theme) นี้ ซึ่งเราสามารถใช้งานธีมได้ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน สำหรับในส่วนของปลั๊กอิน WordPress มีไว้เพื่อเป็นส่วนประกอบเสริมทำให้เว็บไซต์ของเราทำงานได้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น มีประสิทธิภาพและคล่องตัว เช่น หากต้องการทำเว็บไซต์ให้สามารถขายสินค้าได้ก็จะใช้ปลั๊กอินที่ชื่อ WooCommerce ในการบริหารจัดการการขายสินค้าต่างๆ หรือมีปลั๊กอินที่ช่วยปรับความเร็วของเว็บไซต์ (Speed) เป็นต้น

ปลั๊กอิน (Plugins)

ส่วนการปรับแต่งหน้าตาเว็บไซต์ (Appearance)

หลังจากที่เราได้ทำการเลือกธีมและปลั๊กอินแล้ว ในส่วนถัดมาคือส่วนการปรับแต่งหน้าตาเว็บไซต์ (Appearance) ส่วนนี้จะขึ้นกับธีมที่ใช้งานเพราะแต่ละธีมจะมีการปรับแต่งหน้าตาไม่เหมือนกัน จากรูปเป็นธีมพื้นฐานของ WordPress ที่ให้มาชื่อธีมขึ้นต้นด้วย Twenty เช่น Twenty Twenty-Four ในส่วนการปรับแต่งหน้าตาเว็บไซต์นี้จะทำหน้าที่ในการปรับแต่งเลย์เอาท์ (Layout) ส่วนหัว (Header) ส่วนท้าย (Footer) ของเนื้อหา เมนู (Menu) สีพื้นหลังและสีตัวอักษร (Color) ตัวอักษร (Font) เป็นต้น

Site Editor

ส่วนการจัดการเนื้อหา (Content Management)

เมื่อเราทำการตกแต่งหน้าตาเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ในขั้นตอนถัดมาจะเป็นการใส่เนื้อหาของเว็บไซตืผ่านระบบการจัดการเนื้อหาของเวิร์ดเพรส ซึ่งมี 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ เรื่อง (Post) และหน้า (Page) รูปแบบการใช้งานจะคล้ายกันแต่มีความแตกต่างกันในรูปแบบของการใช้งาน ดังนี้

  • เรื่อง (Post) จะเป็นบทความของเว็บไซต์ เช่น ข่าวต่างๆ
  • หน้า (Page) จะเป็นหน้าหลักต่างๆ เช่น หน้าเกี่ยวกับเรา หน้าติดต่อเรา
เรื่องและหน้า (Post and Page)

จากรูปด้านบนจะเป็นการใส่เนื้อหาของเรื่อง (Post) หรือบทความ โดยเราสามารถใส่หัวข้อ เนื้อหา รูปภาพ หมวดหมู่ แท็ก การกำหนดเวลาตีพิมพ์ และรายละเอียดอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรัยเนื้อหาได้

ส่วนของการจัดการผู้ใช้งาน (User Management)

ส่วนถัดมาคือส่วนของการจัดการผู้ใช้งาน จะใช้ในกรณีที่เรามีจำนวนผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยเราสามารถควบคุมการใช้งานของผู้ใช้งาน (User) แต่ละคน เช่น รายละเอียดของชื่อผู้ใช้งาน (Username) รหัสผ่าน (Password) ที่อยู่ (Address) และสิทธิของผู้ใช้งานได้ (User Rights) เช่น ผู้ดูแล (Admin) ผู้ตรวจสอบ ผู้แก้ไข (Editor) ผู้เขียน และสมาชิกทั่วไป (Subscriber) ซึ่งแต่ละสิทธิสามารถใช้งานได้แตกต่างกัน เราสามารถทำการเพิ่มหรือลบผู้ใช้งานได้เอง

การจัดการผู้ใช้งาน (Users)

ส่วนของการจัดการสื่อ (Media Management)

สำหรับสื่อ เราสามารถทำการจัดการสื่อได้ทั้งในส่วนของรูป (Image) และวิดีโอ (Video) ได้แก่ การปรับแต่งขนาดของรูป รายละเอียดรูปได้ เป็นต้น เราสามารถดูรายละเอียดของการอัปโหลดรูปได้ว่าอัปโหลดเมื่อไรโดยจัดเรียงตามวันและเวลาของการอัปโหลด

การจัดการสื่อ (Media)

ส่วนของการจัดการข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment Management)

ในกรณีที่เว็บไซต์ของเราเปิดให้แสดงความคิดเห็น เราก็สามารถบริหารจัดการข้อความที่แสดงความคิดเห็นเข้ามาในบทความของเว็บไซต์ของเราได้เช่นกัน โดยกำหนดให้แสดงข้อความนั้นๆ หรือปิดกั้นข้อความ หรือกำหนดให้ข้อความนั้นเป็นสแปมหรือภัยคุกคามของเว็บไซต์ได้ และยังสามารถกำหนดสิทธิในการกระจายเนื้อหาบทความไปยังเว็บไซต์อื่นๆ ได้อีกด้วย

การจัดการข้อความแสดงความคิดเห็น (Comment)

ส่วนของการจัดการเครื่องมือ (Tools)

ส่วนถัดมาจะเป็นส่วนของการจัดการเครื่องมือ (Tools) ต่างๆ ซึ่งสามารถทำการติดตั้งเพิ่มเติมได้ ในเบื้องต้นจะให้ส่วนของตัวแปลงหมวดหมู่และป้ายกำกับ (Category and Tags converter) การตรวจสุขภาพของเว็บไซตื (Site Health) เรายังสามารถทำการนำเข้า (Import) ส่งออก (Export) ข้อมูลเว็บไซต์ เพื่อให้เราสามารถโอนถ่ายเนื้อหาของจากเว็บไซต์หนึ่งไปยังอีกเว็บไซต์หนึ่งได้ และสามารถบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน (Export or Delete Personal Data) รวมถึงสามารถทำการแก้ไขโค้ดของเว็บไซต์ (Theme and Plugin Editor) ได้ด้วย

Site Health

บทส่งท้าย

สำหรับผู้เริ่มต้นทำเว็บไซต์ด้วย WordPress น่าจะพอเห็นภาพรวมของโปรแกรมสร้างเว็บไซต์ WordPress กันแล้วนะครับว่าสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง ไม่สามารถทำสิ่งใดได้บ้าง ซึ่งสามารถนำไปตัดสินใจได้ว่าเว็บไซต์ของเราจะใช้โปรแกรมนี้ได้หรือไม่อย่างไร หากยังมีข้อสงสัยก็สามารถติดต่อสอบถามเราได้นะครับ สำหรับบทความนี้ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ..

Leave a Comment

Contact Us via Line QR code